วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

วันเทศกาลตรุษจีน

เทศกาลวันตรุษจีน วันตรุษแปลว่าวันเริ่ม หมายถึงวันเริ่มต้น การเริ่มต้น วันใหม่ เริ่มฤดูกาลใหม่เริ่มปีใหม่ของคนจีนจะตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติของชาวจีน ความเป็นมาคือประเทศจีนเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำไร่ไถ่นา ปรากฏว่าปีหนึ่งแบ่งเป็น 4 ฤดูกาลพอถึงช่วงฤดูใบไม้ร่วงฤดูหนาว ประเทศจีนจะหนาวมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูหนาว หิมะตกหนัก ไม่สามารถทำให้ทำนาได้เกษตรกรรมบางอย่างทำก็ไม่ได้เป็นช่วงที่ชาวนาได้พักร้อนยาวมาก พอถึงฤดูใบไม้ผลิ อากาศเริ่มอุ่นจะได้ทำนาทำไร่กัน เลยมีการบวงสรวงปีใหม่ธรรมเนียมนี้จากการที่อ่านประวัติศาสตร์ศึกษาลงไปประมาณ 3,200 ปีก่อน และปัจจุบันจะมีตุ๊กตาจีนเป็นคนตกปลาตัวหนึ่งซึ่งมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ชื่อของท่านคือ เกียงไท้กง จะเป็นพระอาจารย์ของพระโอรสกษัตริย์ 2 พระองค์ ลูกศิษย์ของเกียงไท้กงที่เป็นโอรสองค์ที่ 2 จะเป็นผู้สำเร็จราชการของจีนในขณะนั้น แล้วเป็นผู้ที่คิดธรรมเนียมต่าง ๆ ขึ้นมา มีชื่อเรียกเป็นฉายาว่า จิวกงผู้คิดประเพณี จิวกงคิดธรรมเนียมตรุษจีน ว่าให้มีการไหว้เจ้าเมื่อจะเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิต มีธรรมเนียมหนึ่งที่น่าสนใจว่าห้ามฆ่าสัตว์ตัวเมียมาเซ่นไหว้ เพราะช่วงฤดูหนาวเป็นช่วงที่สัตว์ผสมพันธุ์กัน การฆ่าสัตว์ตัวเมียอาจพลาดไปฆ่าตัวแม่ที่กำลังตั้งท้องลูกสิ่งเหล่านี้เป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีน แต่ธรรมเนียมการไหว้เนื่องในวันตรุษจีนสืบทอดยาวนานมาจนถึงปัจจุบันนี้ คนจีนจะมีการไหว้ในวันสิ้นปี และมีการไหว้วันตรุษจีน ในเทศกาลวันตรุษจีนจะมีวันสำคัญ ๆ ที่ยึดถือเป็นหลักที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคำว่าวันจ่าย วันไหว้วันถือ และมีประเพณีการไหว้อีกลักษณะหนึ่งซึ่งคนจีนบางบ้านจะมีการไหว้เจ้าเต่า ปัจจุบันจะเป็นธรรมเนียมที่เรียกว่าไหว้เหล่าเอียะเจี่ยถี่ ไหว้ส่งเสด็จเจ้าขึ้นสวรรค์จะตรงกับ
วันที่ 24 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของชาวจีนเมื่อไหว้เสร็จจะเริ่มทำความสะอาดบ้านกัน เป็นการล้างบ้านอย่างใหญ่ นอกเหนือจากที่ทุกวันปัดกวาดเช็ดถูธรรมดา ช่วงนี้จะล้างบ้าน คือเขามองว่าปีหนึ่งล้างบ้านให้สะอาดครั้งหนึ่ง ผู้ใหญ่ อาจจะให้เป็นเกร็ดความรู้จูงใจให้ล้างบ้านว่าล้างบ้านเพื่ออวยพรให้บ้านโชคดี ความโชคดีจะชอบบ้านที่สะอาด พอล้างบ้านเสร็จก็
เริ่มจับจ่ายใช้สอยเตรียมของไหว้เจ้า เพราะในวันสิ้นปีจะมีไหวเจ้าหลายอย่าง และในวันตรุษจีนมีไหว้เจ้าหลายอย่าง ปัจจุบันจะนิยมหยุดงานกันในวันสิ้นปี และในวันตรุษจีน และอาจมีหยุดต่ออีกหลายวัน เป็นช่วงที่จะจับจ่ายใช้สอยอะไร ซื้อให้เสร็จก่อนวันสิ้นปี จึงเกิดเป็นธรรมเนียมว่าก่อนสิ้นปี 1 วัน เรียกกันว่าเป็นวันจ่าย ขาดเหลืออะไรไปซื้อของให้เรียบร้อย และวันสิ้นปีจะเรียกเป็นวันไหว้ เพราะในวันสิ้นปีจะมีตั้งแต่ไหว้เจ้าในช่วงเช้า ไหว้บรรพบุรุษในช่วงก่อนเที่ยงวัน หรือบางบ้านไหว้เมื่อบ่ายโมง จะเป็นการไหว้ผีไม่มี
ญาติ วันไหว้วันเดียวไหว้ถึง3 ครั้ง พอหมดวันสิ้นปีประมาณเที่ยงคืน พอล่วงเช้าวันใหม่คนจีนจะนิยมไหว้ใช้ซิงเอี้ยะ หรือเทพเจ้าแห่งโชคภาพ ไหว้ถึง 4 อย่างใน 1 วัน 1 คืน พอเช้าวันตรุษจีนยังมีไหว้เจ้าง่าย ๆ และมีไหว้บรรพบุรุษอีกต่างหากแต่ที่น่าสนใจคือไหว้ใช้
ชิงเอี้ยะ จะมีการดูฤกษ์ยามที่ดี และการไหว้จะมีทิศของการไหว้ แต่ละปีใช้ชิงเอียะเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ จะเสด็จลงมาในทิศที่ไม่เหมือนกัน
ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับของที่ใช้ไหว้เจ้าว่ามีอะไรบ้าง ถ้าเป็นการไหว้วันสิ้นปีจะไหว้ปกติคือมีของคาว ของหวาน ซึ่งจะมีขนมไหว้พิเศษสำหรับเทศกาลนี้คือขนมเข่งและขนมเทียน ขนมเข่งและขนมเทียนจะดูเป็นหลักว่าเทศกาลไหนมีไหว้ผีไม่มี
ญาติ จะมีไหว้ขนมเข่งและขนมเทียน และไหว้บรรพบุรุษจะมีเป็นปกติ นอกจากจะมีไหว้ของคาวคือพวกหมู ไก่ มีไหว้ขนมไหว้และผลไม้แล้ว จะมีกับข้าว 8 อย่าง 10 อย่างและมีไหว้ผีไม่มีญาติ ไปไหว้ที่นอกบ้านแล้วแต่จัด บางบ้านจัดมาก บางบ้านจัดน้อย บางบ้าน
จัดพอเป็นพิธีแต่ที่บ้านไม่ไหว้ผีไม่มีญาติในเทศกาลไหว้วันสิ้นปี ส่วนการไหว้ใช้ซิงเอี้ยะกับการไหว้ตรุษจีนจะพิเศษอย่างหนึ่งคือจัดง่าย ๆ จะไหว้ขนมมี ขนมอี๋ไหว้เพื่ออวยพรให้โชคดี ขนมจันอับ บางครั้งเรียกว่าขนมแต่เหลียง หรือขนมโหงวเช็กซึ้ง จะเป็นขนม 5 อย่างประกอบด้วยถั่วตัด งาตัด ข้าวพอง ถั่วเคลือบ และฟักเชื่อม และจะไหว้ส้ม ซึ่งส้มในเทศกาลตรุษจีนนิยมเป็นส้มสีทอง ส้มจะเป็นผลไม้ประจำเทศกาลตรุษจีน เพราะเป็นผลไม้ที่มีความหมายมงคล คนจีนเรียกว่าใต้อิด แปลว่าโชคดี มหามงคลและเตรียมน้ำชาอีก 3 ที่สำหรับไหว้ใช้ชิงเอี้ยะและมีกระดาษเงินกระดาษทอง และไหว้ธูป 3 ดอก พอช่วงเช้าวันตรุษจีนจะมีการไหว้เจ้าที่ด้วยของไหว้เหมือนกัน คือมีส้ม ขนมอี๋ และมีขนมจันทร์อับหรือขนม 5 อย่างนี้ และไหว้น้ำชาอีก 5 ถ้วย และไหว้ธูป 5 ดอก เพราะการไหว้เจ้าที่คือการไหว้ธาตุทั้ง 5 และไหว้บรรพบุรุษด้วยของไหว้ง่าย ๆ อย่างนี้เหมือนกัน เพียงแต่เพิ่มอาหารแห้งเข้ามาอีกที่หนึ่งเท่านั้น เป็นการไหว้ที่ค่อนข้างมาก แต่เพื่อให้เป็นสิริมงคล นอกจากนี้ วันตรุษจีนจะเป็นช่วงเทศกาลซึ่งบางครั้งคนจีนจะเรียกว่าวันถือ จะมีวันจ่าย วันไหว้ วันถือ ถือคือถือที่จะพูดหรือสิ่งที่ดี ๆ อวยพรในสิ่งที่ดี ๆ แก่กัน ไม่ทำงาน เพราะกลัวพลาด และไม่ปัดกวาดเช็ดถู ไม่ทำอะไรที่เกรงว่าจะทำให้ของไม่ดีติดมา เช่นไม่กวาดบ้าน เพราะกลัวว่าจะกวาดเอาสิ่งดี ๆ ออกไป และกวาดเอาสิ่งที่ไม่ดีเข้ามา การล้างชาม คนจีนจะมีเกร็ดความรู้นิดหนึ่ง
ว่า ถ้าพลาดทำจานชามกระเบื้องตกแตก ให้รีบพูดว่าขุยขุ่ยฉุ่ยตกปุ๊ยกุ่ย แปลว่ากระเบื้องเปิดปากแล้วจะร่ำรวยกันใหญ่ ธรรมเนียมของจีนมีหลายอย่างที่น่าสนใจ
วันสำคัญ ๆ ของวันตรุษจีน
วันสำคัญ ๆ ของวันตรุษจีนจะมีอยู่ 3 วันคือ วันจ่าย วันไหว้ และวันถือหรือวันเที่ยว ซึ่งชาวจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนได้ถือปฏิบัติกันมาช้านาน มีรายละเอียดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะวันถือในเทศกาลวันตรุษจีนนี้ที่บอกว่า ชาวจีนจะพูดและทำในสิ่งที่เป็นมงคล ไม่พูดจาหยาบคาย
จุดเด่นสำหรับเทศกาลตรุษจีน เป็นธรรมเนียมของการเริ่มต้นโดยมีจุดเด่นว่าเป็นข้อคิดว่าไหน ๆ จะเริ่มปีใหม่เริ่มให้ดีๆ ตั้งใจทำให้ดี ๆ ตั้งสมาธินิดหนึ่ง อะไรที่ดีและธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งที่ชอบคือ เป็นธรรมเนียมการไปอวยพรญาติมิตรเรียกว่า
ไปไป๊เนีย เอาส้ม 4 ผล ถ้าเป็นของดั้งเดิมที่เคยเห็นจะเอาส้ม 4 ผลใส่ผ้าเช็ดหน้าผู้ชายผืนใหญ่ไปไหว้ญาติมิตร ไปอวยพร แล้วส้ม 4 ผลให้ไปเจ้าบ้านจะรับมาจะมาเปลี่ยนเอาส้ม 2 ใบใส่เข้าไป แล้วคืนส้ม 4 ใบให้กับแขกผู้มาเยือนเป็นการอวยพร เป็นการแลกเปลี่ยน
โชคลาภ มอบโชคลาภให้แก่กัน แล้วเจอหน้ากันจะอวยพรกัน ซินเจียยู่อี่ ซินนี้อวดใช้ จะแปลว่าเวลาใหม่ให้สมใจ ปีใหม่ให้สมปรารถนาจะนิยมอวยพรเป็นคำอื่นก็ได้เช่น ห่วงสื่อยู่อี่ ทุกเรื่องให้สมปรารถนาที่เอามาตั้งเป็นชื่อหนังสือรวบรวมลวดลายศิริมงคล
จากคำอวยพรวันตรุษจีนเช่นกัน คำอวยพรวันตรุษจีนจะมีคำเฉพาะเรียกว่าตุ้ยเลี้ยง ตุ้ยแปลว่าคู่ เลี้ยงหมายถึงการแสดงความคิดเห็นเป็น 2 วลีคู่ อย่างซินเจียยู่อี่วลีหนึ่ง ซินนี้ฮวดใช้วลีหนึ่งคู่กันบางทีจะเป็นแผ่นป้ายคำอวยพรแปะไว้ที่หน้าประตูบ้านหาซื้อได้แถว
เยาวราช เพราะฉะนั้นตรุษจีนจุดเด่นคือการทำแต่สิ่งที่ดีพูดคำดี อวยพรแต่สิ่งที่ดี บางบ้านจะมีการปิดยันต์แผ่นใหม่ที่หน้าประตูบ้าน เพื่อให้คุ้มครองตัวเราและครอบครัว จังสังเกตได้ว่าข้อดีหรือจุดเด่นของวันตรุษจีนนั้น ชาวจีนจะทำแต่สิ่งที่ดี พูดดี และไปอวยพร
ญาติมิตรหรือญาติผู้ใหญ่ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูสำหรับอดีตไม่ทราบ เพราะเกิดไม่ทัน และไม่ได้ไปศึกษา แต่มองว่าปัจจุบันนี้คนจีนยังคงธรรมเนียมนี้อยู่ เป็นธรรมเนียมที่ได้รับการสนใจและสืบสานจนถึงทุกวันนี้ ถ้าไปย่านเยาวราชวันจ่ายอย่าได้ผ่าน
ไป รถจะติดมาก และทุกปีเป็นอย่างนี้ เชื่อว่าปีนี้จะยังคงติดอยู่ ยังคงไปจับจ่ายซื้อของกัน และก่อนเริ่มเทศกาลประมาณเดือนหนึ่งจะมีการตั้งแผงขายตุ้ยเลี้ยงหรือแผ่นคำมงคลอวยพรไปหาซื้อได้ เป็นแผ่นแดง ๆ และมีตัวอักษรจีนสีทองพิมพ์แปะอยู่ เลือกได้ชอบคำ
ไหน ปีนี้ถ้าอวยพรท่านผู้ฟัง จะอวยพรว่าโป่วโป่วกาเซ็ง แปลว่าทุกก้าวให้สำเร็จ เพราะในภาวะเศรษฐกิจสังคมที่ทุกคนบอกมีปัญหามาก ติดขัดไปหมด การทำงานขาดทุนแล้วขาดทุนอีกจะไปรอดไม่รอด อยากอวยพรโป่วโป่วกาเซ็ง ทุกก้าวให้สำเร็จ ไม่ว่าจะทำ
อะไรขอให้สำเร็จ ไม่ว่าจะทำอะไรขอให้ไปรอดปลอดภัย และอีกคำหนึ่งซุกยิบเพ็งอัง แปลว่าเข้าออกปลอดภัย เพราะทุกวันนี้มีอุบัติเหตุมีอะไรที่เราคาดไม่ถึง จะเข้าออกนอกบ้านขอให้ปลอดภัย ขอให้โชคดีและทุก ๆ ก้าวให้สำเร็จ
ในโอกาสที่สัปดาห์นี้เป็นเทศกาลวันตรุษจีน ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน คุณจิตราได้กรุณาฝากคำอวยพรไปถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยที่มีเชื้อสายจีนหรือชาวจีนที่อยู่ในประเทศไทยอย่างที่อวยพรว่าโป่วโป่วกาเซ็ง ให้ทุกก้าวสำเร็จ ให้ชุกยิบเพ็งอัง
คือชีวิตที่เข้านอกออกนอกบ้านขอให้ปลอดภัย และฝากเกร็ดความรู้อีกนิดหนึ่งคนจีนที่พิถีพิถันจะดูฤกษ์ยามในการออกนอกบ้านครั้งแรกในวันตรุษจีน คือจะเป็นความเชื่อของคนโบราณว่าถ้าออกนอกบ้านในช่วงเวลาที่ดีจะราบรื่นเรื่อยไปตลอดปี แต่ถ้าออกนอกบ้าน
ครั้งแรกผิดเวลา เป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีอาจจะมีอะไรติดขัด ฝากให้ลองดูว่าอาจเป็นไปได้ เป็นกำลังใจนิดหนึ่ง และเกร็ดความรู้อีกอย่างหนึ่งคือจีนหยุดยาว บางคนจะดูฤกษ์ยามในการเปิดร้านหลังวันตรุษจีน บางคนดูฤกษ์วันดี บางคนดูฤกษ์สะดวก เช่น บางคนจะ
ดูว่าที่เล่าไว้ว่าจะมีการไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์ในวันที่ 24 เดือน 12 ซึ่งเจ้าจะขึ้นสวรรค์ 10 วัน และจะลงมาอีกทีวันที่ 4 เดือน 1 บางคนถือเป็นฤกษ์ว่าเจ้าลงมาแล้วจะอวยพรให้ปลอดภัย ให้ก้าวหน้าโชคดี จะเปิดกิจการเปิดร้านในวันที่ 4 เดือน 1 ตรงนี้สะท้อนความ
หลากหลาย บางคนเปิดงานในวันสะดวก บางคนเปิดงานในวันฤกษ์ดี บางคนเปิดงานในวันที่เหล่าเอี้ยะเหล่าที คือเจ้าเสด็จลงมา ตรงนี้สะท้อนคำว่าธรรมเนียม แปลว่าความนิยม อาจจะนิยมต่างกันได้ เพราะฉะนั้นคือเกร็ดความรู้ที่ขอฝากท่านผู้ฟัง และอย่างที่
ฝากไว้ว่าคำอวยพรสำหรับปีนี้ โป่วโป่วกาเซ็ง ทุกก้าวให้สำเร็จชุกยิบเพ็งอัง เข้าออกนอกบ้านขอให้ปลอดภัยโชคดี แถมอีกคำหนึ่งบ่งสื่อหยู่อี้ ทุกเรื่องให้สมปรารถนา


ที่มา : "ตึ่ง หนั่ง เกี้ย" โดย จิตรา ก่อนันทเกียรติ

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

วันกองทัพไทย

๑๘ มกราคม วันกองทัพไทย

ในวันที่ 18 มกราคม 2550 ประกาศเป็นวันกองทัพไทยเป็นปีแรก ซึ่งก่อนหน้านี้คือ“วันยุทธหัตถี” หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”


“วันยุทธหัตถี” หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หมายถึง วันที่ระะลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ อันตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ กำหนดให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” (แทนวันที่ ๒๕ มกราคม เนื่องจากนายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้คำนวณแล้วพบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ที่กำหนดเป็นวันที่ ๒๕ มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง) และถือวันนี้เป็นวันรัฐพิธี โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ


ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติ ในการทำสงครามโอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะก็จะได้รับการยกย่องว่า มีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้


ในสมัยอยุธยามีการยุทธหัตถี รวม ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระ อินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์ ครั้งที่สองในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต และครั้งที่สาม ก็คือครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล

หลังจากนั้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีข้าศึกใดกล้ายกทัพมารุกรานเรานานถึง ๑๕๐ ปี ดังนั้น ในโอกาสครบรอบ ๔๑๕ ปีแห่งวันกระทำยุทธหัตถีจนได้รับชัยชนะ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำพระราชประวัติโดยย่อของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์


สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๑๘ แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๙๘ ทรงมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นพระบิดา และมีพระวิสุทธิกษัตรี ผู้เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระสุริโยทัยวีรกษัตรีย์ของไทยเป็นพระมารดา จึงอาจกล่าวได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงได้รับพระสายโลหิตความเก่งกล้าสามารถสืบเนื่องมาจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทางพระชนก และเลือดพระสุริโยทัยซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกา(ยาย)ทางพระมารดา


ทรงมีพระสุพรรณกัลยา เป็นพระพี่นาง และมีพระเอกาทศรถเป็นพระอนุชา เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ๑๕ ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๑๓๓ จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ ทรงอุทิศเวลาเกือบตลอดรัชสมัยให้กับการศึกสงครามเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กรุงศรีอยุธยาตลอดมา ทำให้ทรงไม่มีพระมเหสีและพระราชโอรสธิดา ดังนั้น เมื่อเสด็จสวรรคต พระเอกาทศรถจึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา


สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงฉลาดในการวางแผนยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน ทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือ ใช้คนน้อยแต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่ว่าจะเป็นปืน ดาบ ทวนหรือง้าว เป็นต้น


ฝีมือการรบของพระองค์นั้นเรียกได้ว่าเก่งกาจจนเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ข้าศึกศัตรู ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าพอสรุปได้ว่า วันหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงตัดพ้อว่า ไม่มีใครที่จะอาสามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเลย ทั้งๆที่พระนเรศวรมีรี้พลแค่หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง พระยาลอ ขุนนางคนหนึ่ง จึงทูลว่า กรุงศรีอยุธยานั้น สำคัญที่พระนเรศวรองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็งทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาดรี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก ข้อความดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้อย่างชัดเจน





อาจกล่าวได้ว่าตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่เคยทรงอยู่อย่างสะดวกสบายและต้องทรงกระทำการรบมาโดยตลอด กล่าวคือ เมื่อพระชนมายุ ๙ พรรษาก็ต้องไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดีอยู่ ๖ ปี ครั้นเสด็จ กลับมากรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ปีต่อมาพระบิดาก็ส่งไปครองเมืองพิษณุโลก มีอำนาจบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ได้ทรงจัดฝึกทหารแบบใหม่ พอพระชนมายุ ๑๙ พรรษาทรงยกกองทัพไปพร้อมพระบิดาเพื่อช่วยทัพหลวงกรุงหงสาวดีตีเมืองเวียงจันทร์ ครั้นพระชนมายุ ๒๓ พรรษา ได้ลงเรือไล่ติดตามพระยาจีนตุขุนนางจีนเมืองเขมรที่หนีไป โดยใช้พระแสงปืนยิงต่อสู้ด้วยพระองค์เอง อย่างไม่หวาดหวั่นหรือหลบกระสุนที่ยิงโต้กลับมาเลย จนศัตรูยิงถูกรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่แตกไป


แม้จะจับพระยาจีนตุไม่ได้แต่ความกล้าหาญของพระองค์ก็เป็นที่เลื่องลือ ครั้นพระชนมายุ ๒๔ พรรษา ก็ทรงเป็นแม่ทัพไล่ตีพระทศราชา ซึ่งคุมกองทัพเขมรมาตีโคราชและหัวเมืองชั้นในจนได้ชัยชนะทั้งๆที่กำลังน้อยกว่ามาก จนเขมรขยาดไม่กล้ามารุกรานอีก พอพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษาได้แสดงพระปรีชาสามารถในการวางแผนการรบจนตีเมืองคังได้สำเร็จ ขณะที่อีก ๒ กองทัพของพม่าตีไม่สำเร็จ พอพระชนมายุ ๒๙ พรรษาได้ยกทัพไปช่วยรบเมืองอังวะตามคำสั่งหงสาวดี และได้ทราบกลอุบายว่าทางพม่าจะกำจัดพระองค์ จึงแสร้งเดินทัพช้าๆ และต่อมาก็ได้ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อพ.ศ. ๒๑๒๗ ทำให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่ามา ๑๕ ปี ไม่ต้องขึ้นกับพม่าอีกต่อไป


ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าหงสาวดี (นันทบุเรง)จึงให้สุรกรรมายกทัพมาตามจับพระองค์ๆจึงได้ยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุรกรรมาตาย ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา พระมหาธรรมราชา พระบิดาสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และได้ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่ง ครั้นพระชนมายุ ๓๗ พรรษา ก็ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา พระชนมายุ ๔๐ พรรษาเสด็จยกทัพไปตีเมืองเขมร จับพระยาละแวกมาทำพิธีปฐมกรรม (คือตัดศีรษะเอาโลหิตมาล้างพระบาท) และแม้แต่ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ พระองค์ก็ยังอยู่ในระหว่างการยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี)ที่พระพักตร์และเป็นพิษจนเสด็จสวรรคตเสียก่อนในปีพ.ศ. ๒๑๔๘ รวมสิริพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี


ในหนังสือ ๔๐๐ ปีสมเด็จพระนเรศวร ที่เรียบเรียงโดยนายสมชาย พุ่มสอาด นายสมพงษ์ เกรียงไกรเพชร และนายกมล วิชิตสรศาสตร์ ได้เขียนไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นกษัตริย์ที่ปรากฏว่าทรงรอบรู้ศิลปศาสตร์ ถึง ๑๘ อย่าง อันเป็นวิทยาการสำคัญสำหรับขัตติยราชในโบราณอย่างยอดเยี่ยม เช่น ทรงรอบรู้ในยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ ทรงรอบรู้หลักและวิธีปฏิบัติเพื่อปกครองใจคน อันเป็นหลักการเดียวกับปัจจุบัน และยังทรงรอบรู้อรรถภาษิต โวหาร รู้แต่งและฟังฉันท์ ทรงรู้ฤกษ์ยาม และวิธีโคจรของดาวหรือดาราศาสตร์ ทรงรู้ทิศและพยากรณ์ อีกทั้งทรงรู้มายาเล่ห์เหลี่ยมและเหตุผลต่างๆ เป็นต้น


ซึ่งความรู้เหล่านี้ทรงศึกษาจากพราหมณ์ ปุโรหิตบ้าง จากพระบิดาโดยตรงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ทรงศึกษาจากประสบการณ์ของพระองค์เอง รวมทั้งประสบการณ์จากเมืองพม่าเมื่อครั้นไปเป็นตัวประกันอยู่หงสาวดี ทรงเป็นบุรุษที่มีคุณสมบัติเป็นชายชาติทหารสมกับเป็นนักปกครองอย่างเต็มเปี่ยม คือ ทรงมีความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีน้ำใจห้าวหาญ เด็ดขาด และมีฝีมือในการต่อสู้ยิ่ง


จากพระราชประวัติโดยสังเขปข้างต้น คงจะทำให้เด็กๆเยาวชน และเราได้ซาบซึ้งและภาคภูมิใจในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ของไทยยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ตลอดพระชนมชีพได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมือง และอาณาประชาราษฎร์มาโดยตลอด จึงขอเชิญชวนให้พวกเราที่เป็นอนุชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตให้สมกับที่พระองค์ท่านได้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อรักษาชาติ รักษาแผ่นดินจนตกมาถึงพวกเรา

วันครู


มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความ เห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
 
     ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบ ข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า “ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือ ว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
 
     จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู ในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติ เห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครู กับประชาชน
 
     ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้
 
     ในทางพระพุทธศาสนาของเรานี่ ครูผู้ยิ่งใหญ่ของเราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระบรมครูนั่นเอง เรารู้จักพระพุทธเจ้าในฐานะ ผู้เป็นพระบรมครู ศาสดาเอกของโลก   เราจึงควรศึกษาของดีๆ ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างกว้างขวาง
 

วันเด็กแห่งชาติ

 วันเด็กแห่งชาติ มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ โดยในปี พ.ศ. 2498 นายวี เอ็ม กุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และความต้องการของเด็ก รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
         ทั้งนี้ การขานรับกับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเองทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของตนขึ้น โดยได้มีการกำหนดว่าจะถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ

         สำหรับประเทศไทย ได้ตอบรับข้อเสนอของนายวี เอ็ม กุลกานี ซึ่งบอกผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ รัฐบาลจึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 อย่างไรก็ตาม งานวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกของประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 จากนั้นเป็นต้นมา ราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ ด้วยเหตุผลว่า เดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทย เป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้

         ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ว่า ควรจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ที่มีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า ตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา ส่งผลให้ในปี 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว งานวันเด็กแห่งชาติจึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2508 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้
คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก

         นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ ปี ในวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานพระบรมราโชวาท สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงโปรดประทานพระคติธรรม และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญวันเด็ก แสดงให้เห็นว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของชาติ เราจึงได้ยินคำพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า "เด็กคืออนาคตของชาติ เด็กฉลาด ชาติเจริญ" กิจกรรมต่าง ๆ ที่ปฏิบัติในวันเด็กแห่งชาติ  ล้วนมีจุดประสงค์ไปในทางเดียวกัน คือ เพื่อให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณค่าบทบาท และความสำคัญของตนเอง โดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ในโรงเรียน หมู่บ้าน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกถิ่นจะมีขนมมากมาย มีคำเชื้อเชิญเพราะ ๆ มีคำอวยพรให้เด็กๆ เป็นวันที่เด็ก ๆ มีสิทธิพิเศษ ถนนทุกสาย เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ หรือร่วมกันทำกิจกรรม ในแต่ละชุมชนเพื่อเด็กๆ จัดบรรยากาศเพื่อเด็ก ๆ เพลงเด็ก ๆ ของขวัญเพื่อเด็ก ๆ ฯลฯ
 คำขวัญวันเด็ก เป็น คำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ.2555 - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร - "สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี"

วันกาชาด

ประวัติกาชาดไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้งองค์กรการกุศล เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ใช้ชื่อว่า "สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม" ดำเนินการช่วยเหลือทหารบาดเจ็บ ป่วยไข้จากการสู้รบ ทำหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ รักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยจากภัยสงครามและภัยพิบัติต่าง ๆ
ปีพุทธศักราช 2449 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ส่งผู้แทนไปร่วมประชุมกาชาดระหว่างประเทศ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อลงนามความตกลงเรื่องการใช้เครื่องหมายกาชาดช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสนามรบ สภากอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า สภากาชาดสยาม โดยใช้เครื่องหมายกาชาดเป็นสัญลักษณ์
ปีพุทธศักราช 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสืบทอดพระราชภารกิจของสภากาชาดสยามให้เจริญก้าวหน้าเช่นอารยประเทศ
ปีพุทธศักราช 2454 พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้แทนไปร่วมประชุมกาชาดระหว่างประเทศที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมลงนามความตกลงเรื่องกฏหมายคุ้มครองเครื่องหมายกาชาด (กฎหมายมนุษยธรรมระหว่งประเทศ IHL)
ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม บริหารงานของสภากาชาดให้เจริญก้าวหน้า ทรงมีพระราชโองการให้ประการพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยาม ปีพ.ศ.2461 และทรงนำสภากาชาดสยามเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์สภากาชาดฯ ในปีพ.ศ.2463 เป็นลำดับที่ 27 เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2464

ประวัติความเป็นมา
วันปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือนก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก 4 ปี

ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไข อีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุง ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน

เมื่อเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในทุก ๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

และในวันที่ 21 มีนาคมตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกเป๋ง วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมง เท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)

แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้น พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะในปี 2125 นี้) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่ไทย
ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน
การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก

การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์

ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ
1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ
วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น

กิจกรรมใน วันขึ้นปีใหม่
วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย

เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ


สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ



เกี่ยวกับ เพลงพรปีใหม่
เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495