วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประเพณีลอยกระทง

วามหมายลอยกระทง หมายถึง ประเพณีบูชารอยพระพุทธบาท แสดงความสำนึกบุญคุณของแหล่งน้ำอันมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและเป็นการบูชาพระแม่คงคาเทวีตามความเชื่อแต่โบราณด้วยกระทงดอกไม้ธูปเทียน ประกอบกับสิ่งประดิษฐ์จากธรรมชาติที่ลอยน้ำได้
ประวัติความเป็นมา
ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่สำคัญสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ นิยมทำกันในกลางเดือน ๑๒ โดยมีวัตถุประสงค์หลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเพณีความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งได้แก่การลอยกระทง เพื่อ
๑. บูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๒. บูชารอบพระพุทธบาท ณ หาดทรายฝั่งแม่น้ำนัมมทา
๓. บูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน
๔. ขอบคุณน้ำที่อำนวยประโยชน์ต่าง ๆ แก่มนุษย์
๕. ขอขมาน้ำที่มนุษย์ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในน้ำ
๖. เป็นการลอยส่งของแก่ญาติที่อยู่ห่างไกล
๗. เป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
๘. ลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์
๙. อธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนา

คุณค่าความสำคัญ
ประเพณีลอยกระทง นับเป็นประเพณีที่มีคุณค่าต่อครอบครัวชุมชน สังคม และศาสนา กล่าวคือ
๑. คุณค่าต่อครอบครัว ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การประดิษฐ์กระทง แล้วนำไปลอยน้ำเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อน้ำที่ให้คุณประโยชน์แก่เราบางท้องถิ่นจะลอยเพื่อเป็นการแสดงความระลึกถึงบรรพบุรุษอีกด้วย
๒. คุณค่าต่อชุมชน ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชนเช่น ร่วมกันคิดประดิษฐ์กระทงเป็นการส่งเสริมและสืบทอดศิลปกรรมด้านช่างฝีมืออีกด้วย ทั้งยังเป็นการพบปะสังสรรค์ สนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจร่วมกัน
๓. คุณค่าต่อสังคม ทำให้มีความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการช่วยกันรักษาความสะอาดแม่น้ำ ลำคลอง โดยการขุดลอกเก็บขยะในแม่น้ำลำคลองให้สะอาด และไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปในแม่น้ำลำคลองอีกด้วย
๔. คุณค่าต่อศาสนา ช่วยกันรักษาทำนุบำรุงศาสนา เช่น ทางภาคเหนือ ลอยกระทงเพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า และยังจัดให้มีการทำบุญให้ทาน การปฏิบัติธรรม และฟังเทศน์ด้วย


สภาพปัจจุบันและปัญหาในการลอยกระทง
กิจกรรมที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน
๑. การทำความสะอาดแม่น้ำ ลำคลอง เช่น ขุด ลอก คูคลอง
๒. การทำบุญให้ทาน
๓. การปฏิบัติธรรม การฟังเทศน์
๔. การประดิษฐ์กระทงใหญ่ กระทงเล็ก
๕. การจัดกิจกรรมการประกวดต่าง ๆ เช่น การประกวดกระทง การประกวดนางนพมาศ ประกวดโคมลอย
๖. การจัดขบวนแห่กระทง
๗. การนำกระทงไปลอยในแม่น้ำ
๘. การปล่อยโคมลอย
๙. การจุดดอกไม้ไฟ ประทัด หรือพลุ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง
๑๐. การละเล่นรื่นเริง ตามท้องถิ่นนั้น ๆ

กิจกรรมที่เบี่ยงเบนไป
๑. การจุดดอกไม้ไฟ ประทัด หรือพลุ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นจุดเล่นกันอย่างคึกคะนองไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่ระมัดระวัง จุดเล่นตามถนนหนทาง โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดแก่ผู้คนและยวดยานที่สัญจรไปมาและอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนได้
๒. การประกวดนางนพมาศ ให้ความสำคัญมากเกินไปถือเป็นกิจกรรมหลักของประเพณี ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่แก่นแท้ของประเพณีเลย เป็นเพียงกิจกรรมที่เสริมขึ้นมาภายหลังเพื่อให้เกิดความสนุกสนานและเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว
๓. การประดิษฐ์กระทง สมัยก่อนใช้วัสดุพื้นบ้านหรือตามธรรมชาติ เช่น ทำจากใบตอง หยวกกล้วย ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย แต่ปัจจุบันกลับนิยมใช้วัสดุโฟม ซึ่งย่อยสลายยากทำให้แม่น้ำลำคลอง สกปรก เน่าเหม็น เกิดมลภาวะเป็นพิษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น